อุบัติเหตุ / ACCIDENT
ในแต่ละปีนับตั้งแต่พ.ศ. 2548 เป็นต้นมานั้น มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนสูงถึง 100,000 -120,000 ครั้ง ทำให้มีประชากรไทยประมาณ 13,000 คนต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในทุก ๆ ปี บาดเจ็บอีกเป็นเรือนหมื่น สำหรับในช่วงหน้าเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเดินทางมากที่สุดของปีนั้น อุบัติเหตุทางถนนจะคร่าชีวิตคนไทยไปประมาณ 1,000 คน
สิ่งนี้ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จากการศึกษาของกรมทางหลวงในรายงานเรื่อง “มูลค่าความเสียหายของอุบัติเหตุในประเทศไทย” ซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้จัดทำนั้นพบว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องเผชิญในแต่ละปีนั้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 232,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศทีเดียว จากการศึกษานี้จะทำให้เราได้เห็นว่า การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นใช่แต่จะช่วยรักษาชีวิตผู้คนเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้รัฐป้องกันการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นได้ด้วย
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยกรมทางหลวง โดยใช้งบประมาณส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้เพื่อการขยายและบริหารจัดการทางหลวงแผ่นดินของธนาคารโลก จำนวน 84 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,688 ล้านบาท และมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการขนส่งของธนาคารโลกเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางเทคนิค
การวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นโดยใช้รูปแบบการคำนวณทุนมนุษย์ หรือ human capital approach ซึ่งเป็นการหามูลค่าของปัจเจกบุคคลในระบบเศรษฐกิจ และสันนิษฐานว่าเราจะสามารถลดการสูญเสียกำลังการผลิตได้เท่าไหร่หากเราสามารถลดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้
ผลการศึกษาระบุว่า ในแต่ละอุบัติเหตุร้ายแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนั้น ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 5,300,000 บาทโดยเฉลี่ย ส่วนอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดผู้บาดเจ็บถึงขั้นพิการนั้นมีมูลค่าสูงกว่า คือประมาณ 6,200,000 บาทโดยเฉลี่ย
คณะทำงานจากมอ. ต้องใช้เวลานานถึงสองปีในการรวบรวมสถิติทางอุบัติเหตุและสถิติอื่น ๆ รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานทั้งของรัฐและในภาคเอกชน และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากอุบติเหตุทั้งในทางตรงและทางอ้อม (เหยื่อของอุบัติเหตุและครอบครัวของเขา เป็นต้น) บริษัทประกัน หมอและพยาบาล จนท.หน่วยกู้ภัย ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาล ฯลฯ เพื่อให้การคำนวณแบบหามูลค่าทุนมนุษย์นั้นเป็นไปบนรากฐานของความเป็นจริงที่มีข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนให้มากที่สุด
วิธีการประเมินมูลค่าทุนมนุษย์นั้นได้มาจากการคำนวณความสูญเสียทางแรงงานและผลผลิต ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ซึ่งรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ค่ารถพยาบาล และค่าดูแลรักษา ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นำมาคำนวณรวมก็มี ค่าใช้จ่ายในการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ ค่าใช้จ่ายในการส่งคดีขึ้นศาล ค่าทนาย ค่าใช้จ่ายของบริษัทประกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับยาพาหนะและทรัพย์สินอื่น ๆ (เช่น ทรัพย์สินของทางการ เช่นเสาไฟฟ้า เกาะกลางถนน เป็นต้น) นอกจากนี้แล้ว การจราจรที่ติดขัดอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุนั้นก็ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมาต่อผู้ประกอบการ เพราะทำให้ค่าขนส่งและค่าแรงของพนักงานขับรถนั้นสูงขึ้นไปด้วย
องค์ประกอบที่สำคัญมากองค์ประกอบหนึ่งก็คือค่ารักษาพยาบาลผู้ที่ต้องพิการจากอุบัติเหตุ และผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้พิการเอง รวมทั้งครอบครัวของเขาด้วย เพราะหากครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งต้องทำการดูแลผู้พิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิตแล้ว วิถีชีวิตของสมาชิกในครอบครัวก็ย่อมจะต้องได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากการที่พวกเขาไม่สามารถจะออกไปทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อรักษาสุขภาพของตนเองได้ตามปกติเช่นครอบครัวอื่น ๆ